ธุรกิจแฟรนไชส์ร้านอาหารของไต้หวันกับการ Internationalization
ธุรกิจแฟรนไชส์ร้านอาหารของไต้หวันกับการ Internationalization
กรณีศึกษาที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการไทย
1. บทนำ
นับตั้งแต่องค์การการค้าโลก (WTO) ก่อตั้งขึ้นในปี 1995 ทำให้เกิดกระเสการยกระดับตัวเอง สู่ความเป็นสากล (Internationalization) ของผู้ประกอบการที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หรืออีกนัยหนึ่งก็คือประเทศพัฒนาแล้วใช้จุดเด่นในศักยภาพของการบริการของตน ส่งออกการบริการเหล่านี้สู่ประเทศอื่นๆ ผ่านช่องทางของ WTO และจากคำจำกัดความของ WTO/GATS ได้แบ่งการส่งออกการบริการออกเป็น 4 รูปแบบ ตามสาระสำคัญดังนี้
1) Cross-border supply ซึ่งผู้ให้บริการและผู้รับบริการอยู่คนละประเทศและทั้งสองฝ่าย ไม่จำเป็นต้องเดินทางเข้าหากัน เช่น E-learning E-Commerce E-banking และ E-medicine เป็นต้น โดยสื่อกลางในการติดต่อส่วนใหญ่ของผู้ให้และผู้รับบริการคือผ่านทางอินเตอร์เน็ต
2) Consumption Abroad ซึ่งผู้รับบริการเดินทางไปจับจ่ายใช้สอยในอีกประเทศหนึ่ง และ รับการบริการจากธุรกิจที่อยู่ในประเทศนั้น ๆ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด คือ การที่ชาวต่างชาติเดินทางมาท่องเที่ยวนั่นเอง
3) Commercial Presence ซึ่งเป็นรูปแบบที่ผู้ให้บริการจะไปตั้งจุดให้บริการในประเทศของผู้รับบริการขึ้น เช่น การตั้งสาขาในต่างประเทศของธุรกิจประเภทต่าง ๆ
4) Presence of Natural Persons ซึ่งผู้ให้บริการจะเดินทางไปให้บริการแก่ผู้รับบริการในต่างประเทศ เช่น การเดินทางไปแสดงโชว์ในต่างประเทศของดารานักร้อง และการส่งออกแรงงานประเภทต่าง ๆ เป็นต้น
สำหรับแนวโน้มของรูปแบบในการยกระดับตัวเองสู่ความเป็นสากลของผู้ประกอบการ ส่วนใหญ่ในประเทศต่าง ๆ แบ่งออกได้อย่างคร่าว ๆ ดังนี้
1) องค์กรมีขนาดใหญ่ขึ้น มีเงินทุนที่มากขึ้น
2) ธุรกิจแฟรนไชส์ข้ามชาติขนาดใหญ่ฉุดให้เกิดแฟรนไชส์ท้องถิ่นที่ต่อมาก็จะพยายามยกระดับตัวเองสู่ความเป็นนานาชาติเช่นเดียวกัน
3) พึ่งพาการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการประกอบการเป็นอย่างมาก
4) ผสมผสานการบริการหลากหลายรูปแบบเข้าด้วยกันจนก่อให้เกิดเป็นการบริการในรูปแบบใหม่ที่สะดวกรวดเร็วและตรงตามความต้องการของกลุ่มลูกค้ามากขึ้น
5) สร้างพันธมิตรกับธุรกิจต่างแขนงเพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงลูกค้าและเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการองค์กร
2. พื้นฐานของร้านอาหารแฟรนไชส์ในไต้หวัน
ในส่วนของไต้หวันเอง ธุรกิจร้านอาหารถือเป็นธุรกิจที่มีรากฐานมาค่อนข้างยาวนานหลายร้อยปี จนเกิดเป็นความหลากหลายที่ถือเป็นพื้นฐานสำคัญอันมีส่วนช่วยเสริมศักยภาพในการยกระดับตัวเองขึ้นสู่ความเป็นสากลอย่างได้ผลเป็นที่น่าพอใจ โดยปัจจัยสำคัญที่ส่งให้แฟรนไชส์ร้านอาหารในไต้หวันประสบความสำเร็จแบ่งได้ดังต่อไปนี้
1. ความคิดสร้างสรรค์
จากการที่ธุรกิจร้านอาหารในไต้หวันส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการในระดับ SMEs ดังนั้นนอกจากความขยันขันแข็งและต่อสู่อย่างไม่ย่อท้อแล้ว สิ่งสำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบการไต้หวันประสบความสำเร็จอีกอย่างได้แก่ความคิดสร้างสรรค์ของผู้ประกอบการที่ไม่หยุดในการคิดค้นสิ่งใหม่ ๆ ที่อาจแบ่งได้ดังต่อไปนี้
- รสชาติแปลกใหม่
ผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จจะพยายามสร้างความแตกต่าง (Differentiation) ให้กับสินค้าของตัวเอง และสามารถควบคุมรสชาติให้อยู่ในมาตรฐานเดียวกันทั้งหมดได้ ดังตัวอย่างจากความสำเร็จของร้าน Din Tai Fung (http://www.dingtaifung.com.tw) ซึ่งเป็นร้านขายเสี่ยวหลงเปา (ซาลาเปาลูกเล็ก) ซื่อดังของไต้หวันที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากจากการสร้างความแตกต่างด้านรสชาติให้กับเสี่ยวหลงเปาของตัวเอง จนสามารถขยายสาขาไปยังต่างประเทศได้ถึง 8 ประเทศ (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ออกเตรเลีย และสหรัฐฯ)
- Know-how ใหม่
นอกจากในส่วนของรสชาติแล้ว ความคิดสร้างสรรค์ของผู้ประกอบการไต้หวัน ยังรวมถึงในส่วนของการคิดค้น Know-how ใหม่ ๆ มาประยุกต์ใช้ในการประกอบกิจการ เช่น QQ Rice (http://www.qq-rice.com) แฟรนไชส์ขายข้าวปั้นที่มีชื่อเสียงของไต้หวัน ซึ่งปัจจุบันมีสาขาทั้งในฮ่องกง สิงคโปร์ และนิวซีแลนด์ เห็นว่าข้าวถือเป็นอาหารหลักของคนเชื้อสายจีน ดังนั้นบริษัทฯ จึงให้ความสำคัญ
อย่างยิ่งกับการคัดเลือกข้าวที่จะนำมาใช้เป็นวัตถุดิบ โดยจะเลือกใช้เฉพาะข้าวที่ผ่านการสีและเก็บไว้เป็นเวลา 2 เดือน เพราะจะมีความชื้นน้อยทำให้เวลาหุงแล้วข้าวจะไม่แฉะ โดยขณะหุงจะมีการผสมเอนไซม์ด้วย เพื่อช่วยในการย่อยสลายและช่วยให้ผู้บริโภคไม่รู้สึกท้องอืดหลังจากรับประทาน
- วัฒนธรรมการกินแบบใหม่
อาหารถือเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม หรือเราอาจพูดได้ว่าวัฒนธรรมของแต่ละท้องที่มีส่วนสร้างอาหารท้องถิ่นขึ้นมา ทำให้ในช่วงที่ผ่านมาผู้ประกอบการไต้หวันพยายามเป็นอย่างยิ่งที่จะผสมผสานวัฒนธรรมให้เข้ากับอาหาร แน่นอนว่าผลที่ออกมาจึงมีวัฒนธรรมในการกินแบบใหม่ ๆ เกินขึ้นโดยตลอด เช่น ร้าน Five-Dine (http://www.five-dine.com.tw) ซึ่งเริ่มต้นร้านแรกในเมืองไทจง โดยเน้น Concept ในการควบรวมสถาปัตยกรรมเข้ากับอาหาร ที่นอกจากอาหารในเมนูจะมีความแปลกใหม่ในสไตล์ Taiwan fusion แล้ว ยังเน้นความแปลกตามของตัวอาคารที่ไม่เหมือนกันในแต่ละสาขาด้วย ทำให้ผู้ที่มาใช้บริการมีความรู้สึกแปลกใหม่อยู่ตลอดเวลา
2. ระบบการบริหารจัดการที่มีศักยภาพ
ปัจจุบัน หนึ่งในกลยุทธ์การบริหารจัดการที่ได้รับการยอมรับว่าได้ผลดีที่สุดคือการทำ Benchmarking1 เพื่อศึกษา Best Practice ก่อนจะนำประสบการณ์เหล่านั้นมาใช้ในการแก้ไขปรับปรุงองค์กรของตัวเอง ทำให้ผู้ประกอบการแฟรนไชส์ร้านอาหารในไต้หวันส่วนใหญ่นิยมนำเอา Concept ในการบริการแบบ Q.S.C.V. (Quality, Service, Cleanness, Value) ของแฟรนไชส์ข้ามชาติชื่อดังของสหรัฐฯ อย่าง McDonalds มาเป็นแม่แบบในการประยุกต์ใช้อย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ข้อดีของธุรกิจแฟรนไชส์คือต้นทุนหลายอย่างในการบริหารธุรกิจ เช่น การจัดซื้อวัตถุดิบจะถูกกว่าร้านค้าแบบ Stand-alone เนื่องจากเป็นการจัดซื้อคราวละมาก ๆ อีกทั้งการจัดให้มีครัวกลางก็สามารถช่วยลดต้นทุนด้านอุปกรณ์เครื่องใช้ในการทำครัวของร้านในแต่ละสาขาได้ และยังช่วยแก้ปัญหาเรื่องรสชาดที่ควรจะต้องเป็นมาตรฐานเดียวกันได้อีกด้วย นอกจากนี้การตกแต่งสถานที่ให้มีเอกลักษณ์รวมไปจนถึงขั้นตอนการให้บริการและการทำงานที่เป็นระบบก็มีส่วนช่วยดึงดูดลูกค้า และยังช่วยในการเสริมสร้างคุณค่าแบรนด์ของร้าน ให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้คือพื้นฐานสำคัญของการ Internationalization ที่ไม่อาจละเลยได้
3. ความลงตัวของการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้
เราไม่อาจปฎิเสธได้ว่าในปัจจุบัน การพึ่งพาเทคโนโลยีสารสนเทศในการบริหารธุรกิจ ถือเป็นกระแสที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งเราจะเห็นการใช้งานอย่างกว้างขวางในธุรกิจค้าปลีกต่าง ๆ โดยในส่วนของธุรกิจร้านอาหารแล้ว แม้ว่าส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจขนาดเล็ก แต่ก็จะมีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจของตนทั้งในส่วนของการสร้างเวปไซด์ ระบบบริหารจัดการต่าง ๆ
เช่น ระบบส่งออร์เดอร์ลูกค้า ระบบสต็อก ระบบจัดซื้อ ระบบการเงินและบัญชี เป็นต้น ดังเช่นร้าน
1 Benchmarking เป็นกระบวนการวัดและเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ บริการ และวิธีปฏิบัติ กับองค์กรที่สามารถทำได้ดีกว่า เพื่อนำผลของการเปรียบเทียบมาใช้ในการปรับปรุงองค์กรของตนเองเพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศทางธุรกิจ
Wang Steak ผู้ประกอบการร้านสเต็กชื่อดังที่นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ในการบริหารกิจการตั้งแต่เปิดร้านในปี 1990 ซึ่งในขณะนั้นการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศยังเป็นเรื่องใหม่มาก จนกลายเป็นแบบอย่างให้กับผู้ประกอบการแบรนด์อื่นๆ หันมาให้ความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ
3. การวิเคราะห์ธุรกิจร้านอาหารไต้หวันด้วย SWOT Analysis2
จากข้อมูลข้างต้นเราสามารถทำการวิเคราะห์การก้าวสู่ความเป็นสากล (Internationalization) ของธุรกิจร้านอาหารแฟรนไชส์ของไต้หวันด้วย SWOT Analysis ได้ดังนี้
Strengths |
Weaknesses |
1.สามารถผสมผสานอาหารจีนและไต้หวันกับอาหารชาติอื่น จนทำให้มีรูปแบบอาหารที่หลากหลาย
2. มีความคิดสร้างสรรค์ในการคิดรสชาติอาหาร Know-how และวัฒนธรรมการกินแบบใหม่ ๆ
3.มีประสบการณ์ในการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ที่ยาวนาน มีระบบการบริหารจัดการที่ทันสมัย และมีความคล่องตัวสูง
4. มีความรู้ในการบริหารห่วงโซ่อุปทาน3 เป็นอย่างดี
5.สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ |
1. ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดกลางและเล็ก มีเงินทุนหมุนเวียนไม่มากนัก
2. ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ขาดประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจในระดับนานาชาติ
3. ยังไม่มีแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จในระดับนานาชาติ
4. อาหารไต้หวันยังไม่มีเอกลักษณ์พอ เพราะผู้บริโภคในต่างประเทศจะมองว่าเป็นอาหารจีนทั้งหมด |
Opportunities |
Threats |
1.จากการที่ทั่วโลกเริ่มมีกระแสนิยมจีน ทำให้อาหารไต้หวันและอาหารจีนเป็นที่ยอมรับมากขึ้น
2. กระแสการใช้ชีวิตแบบ Wellness เริ่มเป็นที่นิยมในตลาดประเทศพัฒนาแล้ว ในขณะที่ไต้หวันเองก็มีผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง
3. ความเจริญของประเทศจีน ทำให้ตลาดจีนกลายเป็นตลาดสำคัญสำหรับอาหารจีน |
1. จากการที่แบรนด์นานาชาติเข้าสู่ตลาดก่อนมาเป็นเวลานานแล้ว ก่อให้เกิด Entrance Barrier4 ขึ้น ทั้งในด้านเงินทุนและการประกอบกิจการ
2. ผู้ประกอบการของจีนมีความเป็นดั้งเดิมของอาหารจีนมากกว่า และขณะนี้รัฐบาลของแต่ละมณฑลของจีนก็พยายามผลักดันอาหารประจำท้องถิ่นของแต่ละท้องที่อย่างเต็มที่ ทำให้การแข่งขันสูงขึ้น |
2 การวิเคราะห์ SWOT(SWOT Analysis) เป็นเครื่องมือในการประเมินสถานการณ์ สำหรับองค์กร หรือโครงการ ซึ่งช่วยผู้บริหารกำหนดจุดแข็ง (Strengths) และจุดอ่อน (Weaknesses) จากสภาพแวดล้อมภายใน โอกาส (Opportunities) และอุปสรรค (Treats) จากสภาพแวดล้อมภายนอก ตลอดจนผลกระทบจากปัจจัยเหล่านี้ต่อการทำงานขององค์กร
3 กระบวนการ Supply Chain Management หรือ SCM เป็นกระบวนการของการบริหารทุกขั้นตอน นับตั้งแต่การนำเข้าวัตถุดิบสู่กระบวนการผลิต กระบวนการสั่งซื้อ จนกระทั่งส่งสินค้าถึงมือลูกค้าให้มีความต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพสูงสุด
4 Entrance Barrier คืออุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดซึ่ง Michael E. Porter ได้นำมาใช้ใน Five Forces Model ซึ่งเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์อุตสาหกรรมที่มีชื่อเสียงในปัจจุบัน
4. ข้อเสนอแนะ
หลักสำคัญของการทำ SWOT Analysis คือใช้จุดแข็งให้เป็นประโยชน์ ลบจุดอ่อนสร้างผลสำเร็จจากโอกาส และพยายามหลีกเลี่ยงหรือเอาชนะอุปสรรค และจากการวิเคราะห์ข้างต้น ผู้ประกอบการไทยสามารถอาศัยจุดแข็งของผู้ประกอบการไต้หวันมาใช้ในการพัฒนาตัวเอง เพื่อก้าวสู่ความเป็นสากลต่อไป
4.1 การใช้จุดแข็งให้เป็นประโยชน์
1) ความสามารถในการผสมผสานรูปแบบอาหารที่หลากหลายเข้าด้วยกัน ถือเป็นสิ่ง สำคัญสำหรับผู้ประกอบการร้านอาหารแฟรนไชส์ เนื่องจากรสชาติอาหารและความคุ้นเคยในการรับประทานอาหารของคนในแต่ละท้องที่จะไม่เหมือนกัน ดังเช่น ร้านแมคโดนัลด์ในอินเดียที่มี McCurry หรือในไต้หวันที่มี Rice Burger อยู่ด้วย ดังนั้นการปรับปรุงรสชาติเล็กน้อยหรือเพิ่มเมนูบางอย่างเพื่อให้เข้ากับความชื่นชอบของคนท้องถิ่น จะทำให้ได้รับการยอมรับง่ายกว่า ดังนั้นการจะขยายสาขาไปยังต่างประเทศให้ประสบความสำเร็จได้ จะต้องมีการ Localization ทั้งในส่วนของตัวสินค้าและ Know-How รวมไปจนถึงกระบวนการบริหารต่าง ๆ โดยไม่สามารถนำรูปแบบเดิมไปใช้ได้ทั้งหมด เนื่องจากพฤติกรรมในการบริโภคของผู้บริโภคในแต่ละประเทศจะมีความแตกต่างกัน โดยธรรมชาติอยู่แล้ว
2) การสร้างสรรค์รสชาติใหม่ ๆ อย่างไรก็ตามต้องขึ้นกับธรรมชาติของตลาดด้วย เช่น ในญี่ปุ่น หรือจีน ซึ่ง Concept ในความมีวัฒนธรรมที่สืบทอดต่อกันมาหรือเป็นสูตรเฉพาะที่ถ่ายทอด มาแต่บรรพบุรุษ อาจจะเป็นที่ถูกใจผู้บริโภคในพื้นที่เหล่านี้มากกว่า
3) การนำ Concept ของทั้งแฟรนไชส์และเชนสโตร์มาใช้ควบรวมไปพร้อม ๆ กันจะมีส่วนช่วยในการลดต้นทุนในการเข้าสู่ตลาดต่างประเทศได้ และยังสามารถดึงดูดให้นักลงทุนท้องถิ่นหันมาให้ความสนใจขอซื้อแฟรนไชส์ได้ง่ายขึ้น หากมีร้าน Flag Ship ที่ประสบความสำเร็จเพื่อเป็นตัวอย่างให้เห็น
4) เทคโนโลยีสารสนเทศ เครื่องมือสำคัญที่ไม่อาจละเลย เนื่องจากปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งของการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศคือการติดต่อระหว่างส่วนบริหารกับร้านสาขา การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมาช่วยจะสามารถลดค่าใช้จ่ายในการบริหารงานลงได้มาก รวมไปถึงยังให้ความสะดวกในการบริหาร Supply Chain ด้วย
4.2 ลบจุดด้อย
1) ปัญหาด้านเงินทุน ผู้ประกอบการควรเพิ่มศักยภาพด้านการเงินก่อนพิจารณาเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ โดยควรที่จะสำรวจตัวเองก่อนว่ามีฐานการเงินที่แน่นพอหรือไม่ เพราะการก้าวเข้าสู่ตลาดต่างประเทศนั้น จำเป็นจะต้องมีศักยภาพทางการเงินที่สูงพอ โดยเฉพาะในช่วงแรก ๆ ของการเจาะตลาดที่ผลตอบแทนอาจยังไม่มากนัก ทั้งนี้อาจสามารถแก้ปัญหาโดยการหาผู้ร่วมทุน เพิ่มทุน หรือขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
2) รวบรวมข้อมูลเพื่อสร้างความคุ้นเคยก่อนเข้าตลาด หากผู้ประกอบขยายตัวโดยเข้าสู่ตลาดที่ไม่คุ้นเคย โอกาสที่จะประสบความสำเร็จก็จะลดน้อยลง ดังนั้นการจะขยายตลาดไปยังต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นประเทศใด ควรจะต้องทำความเข้าใจตลาดเสียก่อน
3) พยายามสร้างแบรนด์ของตนเองให้เข้มแข็ง แต่ทั้งนี้ควรทำความรู้จักแบรนด์ท้องถิ่นให้ดีก่อนและพยายามหลีกเลี่ยงการแข่งขันโดยตรง แน่นอนกว่ากลยุทธ์ในการสร้างแบรนด์ต่าง ๆ (เช่น Brand Culture, Brand Royalty, Brand Awareness, Brand Positioning, Customer Satisfaction, Brand Value) ถือเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการก้าวสู่ความเป็นสากลที่ไม่อาจละเลขได้เช่นกัน
4.3 สร้างผลสำเร็จจากโอกาส
1) เน้นเอกลักษณ์ประจำชาติดึงดูดผู้บริโภคต่างชาติ ในจุดนี้อาหารไทยมีความได้เปรียบอาหารไต้หวันในแง่ความเป็นที่รู้จัก เนื่องจากชาวต่างชาติส่วนใหญ่จะรู้จักอาหารไต้หวันผ่านอาหารจีน ในขณะที่เอกลักษณ์ของอาหารไทยค่อนข้างโดดเด่นและเป็นที่แพร่หลายมากกว่า ทำให้ผู้ประกอบการไทยสามารถนำข้อได้เปรียบนี้ไปต่อยอดเพื่อขยายผลทางธุรกิจได้ง่ายกว่า
2) อาศัยข้อได้เปรียบด้านวัฒนธรรมในการรุกตลาดจีน จากการที่จีนแผ่นดินใหญ่มีความเจริญทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น ความเป็นอยู่ของประชากรในประเทศก็ดีขึ้น ส่งผลให้กำลังซื้อภายในประเทศเพิ่มสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว แน่นอนว่าธุรกิจร้านอาหารซึ่งเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยสี่ที่สำคัญที่สุดจึงคึกคักตามไปด้วย แต่ทั้งนี้อาจต้องมีการหาจุดสมดุลที่เหมาะสมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เหมาะกับผู้บริโภคในแต่ละท้องที่ เนื่องจากชาวจีนในแต่ละมณฑลจะชอบรสชาติของอาหารที่ไม่เหมือนกัน
4.4 เอาชนะอุปสรรค
1) หลีกเลี่ยงธุรกิจที่ต้องใช้เงินทุนในการเข้าตลาดสูง และมีการแข่งขันสูง เนื่องจากแบรนด์ข้ามชาติที่เข้าตลาดก่อน มีความได้เปรียบทั้งในส่วนของเงินทุน และการประกอบกิจการ จึงควรเลี่ยงการแข่งขันโดยตรง และหันไปจับธุรกิจที่อยู่ในข่าย Blue Ocean5 ที่การแข่งขันน้อยและให้ผลตอบแทนที่เต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้น อาจโดยการสร้างความแตกต่าง (Differentiation) ทั้งในส่วนของตัวสินค้าหรือบริการ เพื่อจับกลุ่มลูกค้าเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) ก่อนจะเป็นวิธีในการเข้าสู่ตลาดในชั้นแรกที่ง่ายกว่า
5 Blue Ocean Strategy คือ แนวคิดทางด้านกลยุทธ์ที่เสนอว่า แทนที่จะมุ่งลอกเลียนแบบและเอาชนะคู่แข่งขัน ด้วยการตัดราคาหรือวิธีอื่นๆ ในตลาดที่มีการแข่งขันสูงดั่งเช่นในน่านน้ำสีแดง องค์กรควรจะแสวงหาตลาดใหม่ที่การแข่งขันน้อยกว่า ดั่งเช่น น่านน้ำสีฟ้าที่คลื่นลมสงบ เพื่อประโยชน์สูงสุดในการประกอบกิจการขององค์กร
2) ปรับตัวเองให้เข้ากับตลาด จากการที่ธุรกิจแฟรนไชส์เป็นธุรกิจที่เกี่ยวกับการบริโภคภายในประเทศ ดังนั้นการจะขยายสาขาไปยังต่างประเทศให้ประสบความสำเร็จได้ จะต้องมีการ Localization ทั้งในส่วนของตัวสินค้าและ Know-How และกระบวนการบริหารต่าง ๆ โดยไม่นำ รูปแบบเดิมไปใช้ทั้งหมด เนื่องจากพฤติกรรมในการบริโภคของผู้บริโภคในแต่ละประเทศจะมีความแตกต่างกันอยู่แล้ว
นอกจากนี้ จากการที่ประเทศในอาเซียนจะมีการรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 ที่จะทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานได้อย่างเสรี ซึ่งถือเป็นโอกาสอันดีของผู้ประกอบการไทยที่จะสามารถเข้าสู่ตลาดอาเซียนได้ง่ายขึ้น แต่ก็มีแนวโน้มสูงที่จะถูกต่างชาติเข้ามาอาศัยชื่อเสียงของธุรกิจบริการไทย เช่น ร้านอาหารไทย หรือสปาไทย มาทำเป็นระบบแฟรนไชส์ขายแข่งกับผู้ประกอบการไทย ด้วยความพร้อมทั้งในระบบบริหารจัดการรวมไปจนถึงการสร้างมาตรฐานที่ดีกว่าผู้ประกอบการไทย ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรเร่งปรับปรุงตัวให้พร้อมรับการแข่งขันมากขึ้น ทั้งการสร้างแบรนด์ การสร้างจุดเด่นให้กับสินค้า การสร้างและควบคุมมาตรฐานในการบริการ การจัดทำระบบบริหารจัดการที่ดี การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศให้เหมาะสม เพื่อความยั่งยืนในการประกอบกิจการต่อไป
********************
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศฯ
ณ กรุงมะนิลา (ส่วนที่ 2) |
E-Mail : thaicom.thipei@msa.hinet.net
Tel : (886 2) 2723-1800
Fax : (886 2) 2723-1821
29 มกราคม 2552 |
จำนวนผู้เปิดอ่าน 11630 ครั้ง
อ่านทั้งหมด