ผู้ประกอบธุรกิจที่จะพัฒนาธุรกิจของตนเองให้เข้าสู่ระบบแฟรนไชส์ โดยเข้ารับการอบรม FranchiseB2B รุ่นปัจจุบันที่กำลังฝึกอบรมในปีนี้ คือรุ่นที่ 14 ขณะนี้ได้รับสมัครและเริ่มฝึกอบรมกันไปแล้วเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2555 นี้นะคะ ท่านที่สนใจสมัครต้องรอปีหน้าแล้วละค่ะ แต่มีหลักสูตรสำหรับผู้บริหารธุรกิจแฟรนไชส์ ยังสามารถสมัครเพิ่มเติมได้ค่ะ ดูใบสมัครในเว็บเราแล้ว fax มาที่ 025475952 นะคะ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 02-5475953 xxxxx
มีคนบอกว่า แฟรนไชส์ก็เหมือนการแต่งงาน เพราะการอยู่ร่วมกันของเจ้าของธุรกิจกับผู้ลงทุนที่เข้ามาเป็นสมาชิกในระบบแฟรนไชส์ ต้องอยู่ร่วมกันประนีประนอมต่อกันอย่างคู่สมรสที่ดี เหมือนช้อนส้อมที่ต้องมีกระทบกระทั่งกันแต่ต่างคนต่างต้องช่วยเหลือประคองอาหารเข้าปาก
หากเปรียบเทียบแฟรนไชส์เหมือนการแต่งงาน วันนี้คู่สมรสมีอัตราเสี่ยงค่อนข้างสูง และบางคู่อยู่กันก่อนแต่งงาน แต่ระบบแฟรนไชส์ทำอย่างนั้นไม่ได้
แฟรนไชส์เป็นระบบธุรกิจที่จะต้องประสานประโยชน์ รวมกลุ่ม มีความสัมพันธ์ด้านธุรกิจที่ใกล้ชิด โดยอาศัยระบบงานเป็นตัวหลักในการดำเนินการ มีข้อปฏิบัติชัดเจน และต่างคนต่างเคารพต่อหน้าที่
บริษัทที่เป็นบริษัทแม่หรือเจ้าของธุรกิจ ที่เรียกว่าแฟรนไชส์ซอร์ ต้องอาศัยผู้ร่วมลงทุนในระบบที่เรียกว่า แฟรนไชส์ซี ในการสร้างยอดขาย สร้างการเติบโตของระบบธุรกิจ ในขณะเดียวกันต้องคอยช่วยเหลือประคองอย่างใกล้ชิดให้ธุรกิจของสมาชิกประสบความสำเร็จ การช่วยเหลือต้องมีการจัดเตรียมทีมงาน และวิธีการเฉพาะในกรณีต่างๆ เช่น ถ้ายอดขายไม่ถึงตามความคาดหมายเพราะมีคู่แข่งมาเปิดบริเวณใกล้เคียง ต้องมีแผนการรับมือและแนวทางแก้ไข มีทีมงานช่วยส่งเสริมการขาย เตรียมสื่อประชาสัมพันธ์ ใบปลิว หรือกิจกรรมเร่งยอดต่างๆ สิ่งเหล่านี้เรียกว่าระบบการช่วยเหลือร้านค้าในระบบแฟรนไชส์
การทำธุรกิจแฟรนไชส์ ผู้ที่มาลงทุนร่วมไม่ได้คาดหวังเพียงว่า จะได้รับรู้เฉพาะเรื่องราวที่เกี่ยวกับสินค้าเพียงอย่างเดียว เช่น ซื้อแฟรนไชส์ไก่ทอดมา จะได้รับรู้แต่เรื่องการทอดไก่อย่างเดียว อย่างนี้ไม่สมกับเป็นการสร้างนักธุรกิจ เพราะเมื่อเป็นระบบแฟรนไชส์ที่ดีแล้ว บริษัทแม่ต้องมีการอบรมให้ความรู้ด้านการจัดการ การตลาด การบริหารงานด้านอื่นๆ เพิ่มเติมด้วย ถือเป็นการพัฒนาบุคลากรไปด้วย แฟรนไชส์ซีจะรับรู้ถึงความเอาใจใส่ และมีความเชื่อมั่นในองค์กรมากขึ้น คุณภาพของระบบงานก็จะมีประสิทธิภาพมากยี่งขึ้น
สิ่งที่พูดถึงนี้ไม่ใช่ความฝัน เห็นได้จากระบบงานที่เป็นระบบร้านตัวแทนจำหน่ายสินค้า (Dealer) เช่น ร้านตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์ก่อสร้าง ร้านตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ หรือร้านตัวแทนจำหน่ายรถจักรยานยนต์ บริษัทแม่จะมีกิจกรรมส่งเสริมความรู้ให้กับร้านค้าสมาชิกอย่างต่อเนื่อง นี่คือรูปแบบการช่วยเหลือในระบบแฟรนไชส์เช่นกัน การสร้างความสัมพันธ์เช่นนี้ จะเสริมสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันขององค์กร ซึ่งลักษณะของกิจกรรมส่งเสริมและให้ความช่วยเหลืออาจแตกต่างกันตามลักษณะธุรกิจและผลตอบแทนที่จะได้
อย่างไรก็ตามต้องเน้นย้ำว่า ธุรกิจระบบแฟรนไชส์ เป็นการสร้างธุรกิจให้เข้มแข็งจากการสร้างตลาด และภาพพจน์สินค้าที่ดี หลังจากนั้น มีการสร้างความต่อเนื่องด้วยระบบงาน ซึ่งจะทำให้ธุรกิจสามารถขยายตัวเป็นร้านสาขาได้อย่างเป็นระบบและมีมาตรฐาน
สุดท้าย ระบบธุรกิจแฟรนไชส์ ต้องมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันในระหว่างหมู่สมาชิกกับบริษัทแม่ที่เป็นแฟรนไชส์ซอร์ จึงจะทำให้ธุรกิจยืนยาวได้อย่างมั่นคง นี่คือ รักยืนนานของงานแฟรนไชส์ที่มากกว่าการแต่งงาน เพราะการแต่งงานจะแต่งกับหลายๆ คนไม่ได้อย่างแฟรนไชส์